พฤติกรรมทำลายกระดูกโดยที่ไม่รู้ตัว
ใครที่เคยมองว่าอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกเป็นเรื่องของผู้สูงอายุคงต้องคิดใหม่ เพราะปัจจุบันเราพบว่าประชากรวัยหนุ่มสาว ไปจนถึงวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาความผิดปกติของกระดูกมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์และโภชนาการ ล้วนมีผลอย่างยิ่งต่อความแข็งแรงของกระดูก และนี่คือพฤติกรรมทำลายกระดูกที่ควรหลีกเลี่ยง
พฤติกรรมการนั่ง
- นั่งไขว่ห้าง จะทำให้เกิดการกดทับน้ำหนักตัวลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่งเป็นผลให้กระดูกคดและโค้งงอ โดยเฉพาะ กระดูกสันหลังและบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้มีอาการปวดคอและหลังตามมา และการที่หัวเข่าถูกบิดผิดรูปบ่อย ๆ เป็นการล็อกเข่าไว้ ยังส่งผลโดยตรงต่อกระดูกข้อเข่า เข่าข้างที่ไขว้ทับบนเสมอ ๆ มักจะเริ่มปวดก่อนอีกข้าง
- นั่งกอดอก จะทำให้กระดูกหลังช่วงบนสะบักและหัวไหล่ถูกยืดออก ผลก็คือหลังช่วงบนจะงองุ้มและกระดูกช่วงคอยื่นไปข้างหน้า ซึ่งมีผลต่อการทำงานของเส้นประสาทที่ไปหล่อเลี้ยงที่แขนอาจทำให้มือและแขนอ่อนแรงหรือชาได้ ทั้งนี้ หากกระดูกช่วงคอเกิดการผิดรูป ก็จะทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง และส่งผลเสียต่อการทำงานของหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง นำไปสู่อาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือไมเกรนได้
- นั่งหลังงอหรือหลังค่อม โดยเฉพาะในกรณีที่นั่งในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่นการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งค้าง ซึ่งจะก่อให้เกิดการคั่งของกรดแลคติก ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยที่บริเวณหัวไหล่ และสะโพก และอาจทำให้กระดูกผิดรูปอีกด้วย
- นั่งบนเก้าอี้โดยไม่พิงพนักหรือนั่งไม่เต็มก้น การนั่งในลักษณะนี้ ทำให้ฐานในการรับน้ำหนักตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่หลังทำงานหนักกว่าปกติ และเกิดเป็นผลเสียต่อกระดูกสันหลัง ทางที่ดีนั้น ควรนั่งเก้าอี้ให้เต็มก้น พร้อมเอนหลังไปที่พนักพิง เพื่อให้ร่างกายถ่ายน้ำหนักบางส่วนไปที่เก้าอี้ แทนที่จะทรงตัวด้วยกระดูกสันหลังเท่านั้น
- นั่งยอง ๆ นาน ๆ นั่งยองกับพื้นทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งปลูกต้นไม้ ซักผ้า เสี่ยงเป็นข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย เพราะการนั่งยองในลักษณะนี้คือท่าที่ผิวข้อเข่าถูกอัดบีบอย่างรุนแรงที่สุด
พฤติกรรมการยืน
- ยืนหลังค่อมหรือแอ่นตัวไปข้างหน้า จะทำให้ปวดหลังและเกิดความผิดปกติของแนวกระดูกช่วงล่าง การยืนหลังตรง และเกร็งหน้าท้องเล็กน้อยจะดีที่สุด
- ยืนโดยลงน้ำหนักไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง การยืนในลักษณะนี้จะส่งผลเสียต่อขาข้างที่ได้รับการทิ้งน้ำหนัก และอาจนำไปสู่อาการปวด และเป็นตะคริวได้ ท่ายืนที่ถูกต้องนั้น ควรยืนให้ขากว้างเท่ากับสะโพกโดยลงน้ำหนักไปที่ขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน เพื่อความสมดุลของร่างกาย
พฤติกรรมเครื่องแต่งกาย
- ใส่รองเท้าส้นสูงเกิน 1 นิ้วครึ่ง สำหรับคุณผู้หญิงการใส่ส้นสูงอาจช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้ดูสง่าขึ้นแต่การยืนบนส้นสูงทำให้น้ำหนักตัวเทไปด้านหน้าที่ปลายเท้า แทนที่จะอยู่บนส้นเท้า ซึ่งทำร้ายทั้งกระดูกสันหลังที่ต้องเกร็งตลอดเวลา และทำร้ายข้อเข่าที่ถูกกดลงผิดตำแหน่ง ถ้าต้องใส่ส้นสูงก็ควรพักเท้าทุกๆ 1 ชั่วโมง
- สะพายกระเป๋าหนักเพียงข้างเดียว กระเป๋าสะพายกับผู้หญิงนับเป็นของคู่กัน แต่หากใช้กระเป๋าที่หนักจนเกินไป และสะพายไว้บนไหล่เพียงข้างเดียว อาจทำให้เกิดการเจ็บปวดบริเวณหัวไหล่ เนื่องจากกล้ามเนื้อ และกระดูกต้องรับน้ำหนักมากจนทำให้กระดูกคดงอได้ วิธีที่เหมาะสม คือ เลือกใช้กระเป๋าน้ำหนักเบา บรรจุของในกระเป๋าแต่พอดี และสลับด้านสะพายระหว่างข้างซ้ายและขวาให้เท่า ๆ กัน
พฤติกรรมการนอน
- นอนคว่ำ โดยเฉพาะการนอนคว่ำเพื่ออ่านหนังสือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากจนผิดปกติ ทั้งยังก่อให้ เกิดอาการปวดคอ และปวดหลังอีกด้วย
- นอนขดตัวคุดคู้ การนอนหดแขน และขาจะทำให้กระดูกสันหลังบิดงอผิดรูป และเกิดอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อได้ ท่านอนที่ถูกต้องนั้น แนะนำให้นอนหงาย และใช้หมอนหนุนศีรษะที่ไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการนอนบนหมอนที่สูงเกินไป
- นอนดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ คนทั่วไปมักติดนิสัยนอนเอนหลังดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนไถลตัวไปบนโซฟาหรือเตียงนอน ทำให้ต้องงอลำคออันอาจเป็นผลให้กระดูกคอสึก และเกิดอาการปวดหลัง เพราะกระดูกหลังแอ่น
พฤติกรรมการกิน
- น้ำอัดลม เนื่องจากน้ำอัดลมมีกรดฟอสฟอริกเป็นส่วนประกอบ การดื่มเป็นประจำติดต่อกันจึงก่อให้เกิดการสะสมของกรดฟอสฟอริกมากขึ้น ซึ่งมีผลให้ระดับแคลเซียมในร่างกายลดต่ำลง จนอาจนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุนได้
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลในทางอ้อมต่อระดับแคลเซียมในร่างกาย ด้วยการทำให้ปริมาณวิตามินดีลดต่ำซึ่งทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดต่ำลงด้วย ทั้งยังไปเพิ่มการขับแมกนีเซียมออกจากร่างกาย
- กาแฟ มีงานวิจัยระบุว่าการดื่มกาแฟเกินกว่าวันละ 2 ถ้วย จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติการณ์ของกระดูก เปราะบางได้เนื่องจากสารคาเฟอีนในกาแฟ จะกระตุ้นให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น การจะมีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรงได้นั้น จึงหมายถึงการใส่ใจดูแลกระดูกอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ วันไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงวัยใด
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
- ใช้นิ้วมือท่าเดิมซ้ำ ๆ จนเป็นโรคพังผืดรัดเส้นประสาทฝ่ามือ มักเกิดกับผู้ที่ใช้ข้อมือทำกิจกรรมเดิม ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ตลอดจนโทรศัพท์หรือขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นผลให้เกิดพังผืดขึ้นบริเวณช่องเส้นเอ็นที่ข้อมือ ในเบื้องต้นจะทำให้รู้สึกชาที่ปลายนิ้ว ต่อมาจะมีอาการปวดร้าวที่ข้อมือ และลามไปยังต้นแขน จนกระทั่งกล้ามเนื้อที่ฝ่ามือและข้อมืออ่อนแรงและลีบลงจนไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้
- การใช้นิ้วมากเกินไปจนเป็นโรคนิ้วล็อค มักเกิดกับผู้ที่ใช้มือออกแรงทำงานมากเกินไป เช่น การหิ้วหรือยกของหนัก การซักหรือบิดผ้า ผู้ที่เป็นโรคนี้จะยังสามารถกำมือหรืองอนิ้วได้แต่ไม่สามารถเหยียดนิ้วใดนิ้วนึงได้
- การสูบบุหรี่ นิโคตินในบุหรี่จะขัดขวางร่างกายในการนำแคลเซียมไปใช้ มวลกระดูกลดลงและเปราะบางมากขึ้น
- เตะฟุตบอล กีฬาหลายประเภทมีผลเสียต่อข้อเข่าหากเล่นมากเกินไปและไม่ทำให้ถูกท่า และฟุตบอลคือกีฬาอันดับหนึ่งที่มีโอกาสทำร้ายข้อเข่ามากที่สุด เพราะเป็นการใช้งานเข่ามากที่สุดในบรรดากีฬาทั้งหมด แถมการเตะฟุตบอลยังมีโอกาสที่จะบาดเจ็บที่หัวเข่าสูงกว่ากีฬาอื่น ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาข้อเข่านั่นเอง
- ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกิน เพราะข้อเข่าเสื่อมหมายถึงการที่ผิวข้อเข่าที่เป็นกระดูกอ่อนบาง ๆ คั่นระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นนั้นเสื่อมหรือบางลง ดังนั้นน้ำหนักตัวที่มากก็ยิ่งเพิ่มแรงกดบีบลงบนผิวข้อเข่าให้เสื่อม ถูกทำลาย และบางเร็วขึ้น
- ทานยาสเตียรอยด์ และยาลูกกลอน มีผลทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุนมากขึ้นได้
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม
สถานที่
อาคาร A ชั้น G
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4110