ปวดหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย
อาการปวดหลัง ในปัจจุบันพบมากขึ้นในคนวัยทำงาน โดยอาจเป็นมากจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการนอนหลับได้
โครงสร้างของหลัง
-
กระดูกสันหลัง เป็นกระดูกแกนกลางที่สำคัญของร่างกายในการรองรับน้ำหนักตัว กระดูกสันหลังมีลักษณะเป็นปล้องๆ ตั้งแต่คอถึงเอว โดยจะเรียกตำแหน่งตามตัวเลข ดังนี้
-
ส่วนคอ (cervical spine) ประกอบด้วยกระดูก 7 ชิ้น (เรียก C1-C7)
-
ส่วนอก (thoracic spine) ประกอบด้วยกระดูก 12 ชิ้น (เรียก T1-T12)
-
ส่วนเอว (lumbar spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้น (เรียก L1-L5) ซึ่งเป็นส่วนที่พบอาการปวดบ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบน
-
ส่วนกระเบนเหน็บ (sacral spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้น (เรียก S1-S5) ซึ่งทั้งหมดจะรวมเป็นชิ้นเดียว เรียกว่ากระดูกก้นกบ
ตำแหน่งที่กระดูกสันหลังแต่ละชิ้นเชื่อมต่อกันเรียกว่า ข้อต่อกระดูกสันหลัง มี 2 ข้าง คือซ้ายและขวา ช่วยให้กระดูกสันหลังสามารถเคลื่อนไหวได้ และระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกสันหลัง คั่นอยู่ ภายในหมอนรองกระดูกมีลักษณะคล้ายเจลลี ซึ่งถ้าหากหมอนรองกระดูกมีการฉีกขาดและส่วนชั้นในเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการปวดตามมาได้
-
กล้ามเนื้อหลัง ยึดติดอยู่กับกระดูกสันหลัง โดยมีเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกแต่ละชิ้นเข้าไว้ด้วยกัน
-
เส้นประสาทไขสันหลัง ในช่องโพรงกระดูกสันหลังจะมีเส้นประสาทไขสันหลังจำนวน 31 คู่ ทำหน้าที่รับความรู้สึกและสั่งงานไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหลัง
-
อายุ โดยทั่วไปอาการปวดหลังเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งในหนุ่มสาววัยทำงาน และในผู้สูงอายุ โดยแต่ละกลุ่มอายุมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มโรค
-
การขาดการออกกำลังกาย ในคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังไม่แข็งแรง ไม่สามารถรองรับกระดูกสันหลังได้
-
อ้วน น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ยิ่งส่งผลให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมากทำให้เกิดความเสื่อมได้มากขึ้น นอกจากนี้ไขมันที่พอกพูนบริเวณหน้าท้องอาจทำให้สมดุลของร่างกายเสียไปและเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุได้
-
โรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบที่ส่งผลต่อข้อกระดูกสันหลัง หรือเนื้องอกบางชนิด เป็นต้น
-
การทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องยกของ ใช้แรงผลักหรือดึงซึ่งทำให้กระดูกสันหลังบิด รวมถึงผู้ที่ทำงานอยู่กับโต๊ะเป็นเวลานานโดยอิริยาบถไม่ถูกต้องก็อาจปวดหลังได้
สาเหตุของอาการปวดหลัง
อาการปวดหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางที่ไม่ถูกต้องหรือพยาธิสภาพของกระดูกสันหลังเอง แต่โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจาก
-
ท่าทาง อิริยาบถ การเคลื่อนไหวร่างกาย และการใช้งานหลังที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุการปวดหลังที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงานที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ (โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค) หากไม่ได้ใส่ใจกับท่านั่งที่ถูกต้อง มักจะนั่งด้วยท่าทางแบบหลังงอ ไหล่ห่อ และก้มคอเข้าหาจอคอมพิวเตอร์ การยกของหนักโดยใช้การก้มหลัง น้ำหนักทั้งหมดจะผ่านไปที่กระดูกสันหลังส่วนที่กำลังโค้งมากที่สุด
-
การบาดเจ็บบริเวณหลัง จากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา เช่น รักบี้ ฟุตบอล การมีการบาดเจ็บหรือมีการกระแทกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้กระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็วขึ้น
-
ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด เช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแต่กำเนิด กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังมีมากหรือน้อยผิดปกติ
-
ภาวะหรือโรคที่เกิดกับกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้มาก ภาวะเหล่านี้ ได้แก่
-
หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
-
โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ คือ ภาวะที่มีการแคบลงของโพรงกระดูกสันหลังเนื่องมาจากการหนาตัวขึ้นของกระดูกหรือเส้นเอ็น ทำให้เส้นประสาทที่วิ่งอยู่ในโพรงกระดูกถูกบีบรัดจากกระดูกหรือเส้นเอ็นที่มีการหนาตัวขึ้นจากการเสื่อมสภาพ
-
กระดูกสันหลังเคลื่อน เมื่อกระดูกสันหลังเสื่อมและเสียความมั่นคงแข็งแรงไป จะทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนได้ จะทำให้เกิดอาการปวดหลังมีการขยับ และอาจมีการปวดร้าวลงขาได้เมื่อมีการกดทับเส้นประสาท
-
โรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาที่หลังได้ เช่น โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก โรคหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้อง หรือมะเร็งที่มีการกระจายมายังกระดูกสันหลัง แต่ละโรคมีรายละเอียดอาการที่แพทย์จะต้องซักหรือตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
สัญญาณเตือนที่ควรรีบพบแพทย์
ถึงแม้ว่าอาการปวดหลังอาจต้องใช้เวลากว่าอาการจะทุเลาลง แต่บางครั้งก็อาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่
-
อาการปวดหลังที่เป็นเรื้อรังติดต่อกันนานเกินกว่า 3 เดือน
-
ปวดหลังร้าวลงสะโพก ขา จนถึงบริเวณน่องหรือเท้า
-
อาการปวดเฉียบพลันที่ไม่ทุเลาลงเมื่อได้พัก หรือมีอาการปวดรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
-
อาการปวดหลังจากการได้รับบาดเจ็บหรือหกล้ม
-
อาการปวดร่วมกับ
-
ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
-
ขาอ่อนแรง
-
ชาบริเวณขา เท้า หรือรอบทวารหนัก
-
คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้
-
น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ Call Center หรือ LINE : @psuv
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม
สถานที่
อาคาร A ชั้น G
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4110