มะเร็งรังไข่ ผู้หญิงวัย 40 ควรระวัง | โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
29 มกราคม 2567
มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่พบได้มาก เป็นอันดับ 2 ของ มะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี พบได้มากในช่วงอายุ 40-60 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในวัยอื่น เช่น เด็กหรือวัยรุ่น เนื่องจากมะเร็งรังไข่เกิดขึ้นได้จากเซลล์ต้นกำเนิดหลายชนิด
เซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งรังไข่ สามารถเกิดขึ้นได้ 3 กลุ่มใหญ่ คือ
-
Epithelium Tumors มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวรังไข่ ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ คือ ประมาณ 90%
-
Germ Cell Tumors มะเร็งฟองไข่ที่เกิดจากเซลล์ตัวอ่อน มีโอกาสพบได้ 5%
-
Sex Cord-Stomal Tumors มะเร็งเนื้อรังไข่ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยมาก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่คือ
- สภาพแวดล้อม เช่น สารเคมี อาหาร มีการศึกษาพบว่าในประเทศ อุตสาหกรรม หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว มีผู้ป่วยเป็น มะเร็งรังไข่มากกว่าประเทศเกษตรกรรม หรือประเทศที่กำลังพัฒนา
- สตรีที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรน้อย
- ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งที่เต้านม มะเร็งมดลูก และมะเร็งระบบทางเดินอาหาร โอกาสเป็น มะเร็งรังไข่มากกว่าคนปกติ
- คนที่มีประจำเดือนเร็ว คือ อายุน้อยกว่า 12 ปี หรือหมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี
- คนที่มีภาวะมีบุตรยาก และต้องใช้ยากระตุ้นการตกไข่
อาการเริ่มแรกของมะเร็งรังไข่
- อาจไม่มีอาการ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญ (มะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มต้นนั้น จะไม่มีอาการใดๆ)
- มีอาการท้องอืด
- คลำพบก้อนในท้องน้อย
- ปวดแน่นท้อง และถ้าก้อนมะเร็งขนาดใหญ่มากจะกดเบียดกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ส่วนปลาย ทำให้ ถ่ายปัสสาวะบ่อยหรืออุจจาระลำบาก
- ในระยะท้ายๆอาจมีน้ำในช่องท้องทำให้ท้องโตขึ้นกว่าเดิม เบื่ออาหาร ผอมแห้ง น้ำหนักลด
4 ระยะของมะเร็งรังไข่
ระยะที่ 1: เซลล์มะเร็งกระจายอยู่เฉพาะรังไข่เท่านั้น
ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งกระจายไปที่มดลูก หรือเนื้อเยื่ออวัยวะอุ้งเชิงกราน
ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งกระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน หรือเนื้อเยื่อในช่องท้องนอกอุ้งเชิงกราน
ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งกระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ที่ตับ ปอด
ที่มา: cooperhealth
การวินิจฉัย
- การตรวจภายในอาจคลำพบก้อนในบริเวณท้องน้อย โดยเฉพาะการคลำพบก้อนรังไข่ได้ในสตรีวัยหมดประจำเดือน (เพราะตามปกติวัยหมดประจำเดือนรังไข่จะฝ่อ)
- การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ อาจช่วยบอกได้ว่ามีก้อนในท้อง ในรายที่อ้วนหรือหน้าท้อง หนามาก คลำด้วยมือตาม ปกติตรวจไม่พบ
- การผ่าตัดเปิดช่องท้อง และตรวจดู เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยโรค สามารถ ขลิบหรือตัดเอาเนื้อมาตรวจหาชนิดของชิ้นเนื้อมะเร็ง เพื่อให้ทราบถึงระยะของโรคด้วย
วิธีการรักษามะเร็งรังไข่
การรักษาหลักของมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว ประกอบไปด้วยการผ่าตัดและการให้ยาเคมีบำบัด ปัจจุบันมีการใช้ยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) หรือยาทางภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) กับการรักษาทางยีนกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
การพยากรณ์โรคจะดีหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งระยะของโรค ชนิดของเนื้อเยื่อที่เป็นและขนาดของมะเร็งที่เหลืออยู่หลังการผ่าตัดครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ทางแพทย์มะเร็งนรีเวช จะมีการติดตามหลังการรักษาเพื่อให้คำปรึกษา ให้ความรู้และคำแนะนำการปฏิบัติตัว ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจภายใน การตรวจเลือด ดู Tumor Marker และการตรวจทางรังสี หรือการตรวจพิเศษอื่นๆ
การป้องกันมะเร็งรังไข่
เนื่องจากมะเร็งรังไข่ในระยะแรกๆ มักจะไม่มีอาการ อีกทั้งยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง การป้องกันจึงทำได้ยาก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ที่ชัดเจน
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ รับการตรวจภายในหรือตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง โดยแพทย์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
บทความโดย : นพ.นพเมศฐ์ ศรีจารุสิทธิ์ สูตินรีแพทย์ (มะเร็งวิทยานรีเวช)
แผนกสุขภาพสตรี โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
หากคุณต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
สามารถติดต่อสอบถามเราได้
Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกสุขภาพสตรี
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 -20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4204